BANNER

(TH) ญี่ปุ่นประกาศใช้บังคับกฎหมายการให้ค่าชดเชยแก่ผู้ที่ถูกบังคับให้ทำหมัน


 ข่าวต่างประเทศ      28 Feb 2025

  


    ในอดีตประเทศญี่ปุ่นมีการบังคับใช้กฎหมายสุพันธุศาสตร์ (Eugenics Law) ส่งผลทำให้ผู้พิการชาวญี่ปุ่นจำนวนมากถูกบังคับให้ทำหมัน โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ ปี ค.ศ.๑๙๕๐  และมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในปี ค.ศ.๑๙๙๖ ภายหลังจากที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาในเดือนกรกฎาคม ๒๐๒๔ พิพากษาให้กฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีคำสั่งให้รัฐบาลชดเชยค่าเสียหาย
                     กฎหมายการให้ค่าชดเชยดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๔ ที่ผ่านมา โดยผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องได้จนถึงวันที่ ๑๖ มกราคม ค.ศ.๒๐๓๐ ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มมีการรับคำร้องขอค่าชดเชยแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้กฎหมายการให้ค่าชดเชย ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๙ กำหนดให้ผู้เสียหายจากการเป็นเหยื่อที่ถูกบังคับให้ทำหมันได้รับเงินชดเชยเพียงครั้งเดียวเป็นเงินจำนวน ๓.๒ ล้านเยน  อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีเหยื่อเพียงจำนวน ๑,๑๕๔ รายเท่านั้นที่ได้รับการรับรองว่ามีสิทธิได้รับเงินชดเชยดังกล่าวซึ่งผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อไม่ได้เปิดเผยการบังคับการทำหมันต่อครอบครัวของตน หรือเลือกที่จะไม่นึกถึงถึงประสบการณ์อันเจ็บปวดของเหล่านั้น เพราะข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัว เนื่องด้วยกฎหมายฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ไม่ได้คำนึงถึงการแจ้งข้อมูลแก่ผู้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นรายบุคคล ซึ่งพิจารณาได้ว่าอาจทำให้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ยื่นคำร้องขอมีจำนวนน้อย
                     ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการบังคับทำหมันจะได้รับเงินชดเชยจำนวน ๑๕ ล้านเยน ส่วนคู่สมรสจะได้รับเงินจำนวน ๕ ล้านเยน หากทั้งคู่เสียชีวิต ครอบครัวสามารถเรียกร้อง
เงินชดเชยได้ด้วยเช่นกัน  นอกจากนี้ ผู้ที่เข้ารับการทำแท้งโดยไม่ได้รับความยินยอมจะได้รับเงิน ๒ ล้านเยน เพื่อช่วยเหลือเหยื่อในกระบวนการยื่นคำร้อง โดยรัฐบาลได้จัดตั้งระบบให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยไม่มีค่าบริการแต่อย่างใด
                      
ผู้เสียหายที่เป็นเหยื่อส่วนใหญ่ประสบปัญหาการรวบรวมหลักฐานเพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างของตน กรณีการทำแท้งจะไม่ปรากฎร่องรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดหลงเหลืออยู่ และบันทึกที่เก็บไว้กับสถาบันทางการแพทย์ก็มีจำนวนน้อยอีกด้วย จึงทำให้องค์กรต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานและสมาคมทนายความแห่งประเทศญี่ปุ่นได้สนับสนุนการให้คำปรึกษาทางกฎหมายฟรี พร้อมกับมีทนายความที่ผ่านการอบรมเฉพาะด้านช่วยจัดเตรียมหลักฐานและเตรียมคำชี้แจงต่างๆประกอบคำร้องขอ อันเป็นการกระตุ้นให้เหยื่อและสมาชิกภายในครอบครัวสามารถยื่นคำร้องให้ได้มากที่สุด
                      ตามข้อมูลของสำนักงานเด็กและครอบครัว คาดว่ามีผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากการถูกทำหมันโดยบังคับ ประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน โดยยังมีผู้รอดชีวิตอยู่ประมาณ ๘,๔๐๐ คน คาดว่าจำนวน
คู่สมรสที่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยอยู่ที่ ๗,๖๐๐ คนซึ่งหมายรวมถึงผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วเช่นกัน ขณะที่จำนวนเหยื่อการทำแท้งอยู่ที่ประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน ซึ่งหมายรวมถึงผู้เสียชีวิตอีกด้วย

                     ขณะนี้ความสนใจอยู่ตรงที่รัฐบาลนั้นจะสามารถสนับสนุนให้เหยื่อได้รับการชดเชยได้มากน้อยเพียงใดภายในระยะเวลา ๕ ปีที่มีการยื่นคำร้องขอ โดยรัฐบาลกลางได้มอบหมายให้หน่วยงานระดับจังหวัดเป็นผู้แจ้งเรื่องเป็นรายบุคคลทราบอีกครั้ง  อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเหมาะสม รัฐบาลได้ยกตัวอย่างการชำระเงินเพียงครั้งเดียวเช่นเดียวกับในอดีตซึ่งจะช่วยครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสำหรับการแจ้งข้อมูลอีกด้วย โดยนาย Junko  Mihara รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนโยบายด้านเด็ก เปิดเผยว่า “เราจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการจ่ายค่าชดเชยและการจ่ายเงินอื่น ๆ จากความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่น”
                      นอกจากนี้ เดือนธันวาคม ปี ค.ศ. ๒๐๒๔ ที่ผ่านมา รัฐบาลกำลังริเริ่มแผนการป้องกันความอยุติธรรมในลักษณะคล้ายคลึงกันในอนาคต โดยมีบทเรียนในอดีตจากการใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลได้นำแผนปฏิบัติการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ข้าราชการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและอคติต่อคนพิการ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี Shigeru  Ishiba เน้นย้ำด้วยการทิ้งท้ายว่า “เพื่อเป็นการบรรลุทางสังคมให้ครอบคลุมอย่างแท้จริง สังคมโดยรวมจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง...”

หมายเหตุ : สุพันธุศาสตร์ (Eugenics) หมายถึง การเลือกลักษณะทางพันธุกรรมตามที่ต้องการเพื่อปรับปรุงคนรุ่นอนาคต, ข้อมูลจาก https://www.britannica.com/science/eugenics-genetics ค้นหาเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗


ข่าวประจำวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.japantimes.co.jp/news/2025/02/10/japan/crime-legal/forced-sterilization-compensation/
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย



 

© 2025 Office of the Council of State.